วันศุกร์ , เมษายน 19 2024
Breaking News
Home / สุขภาพ / ประจำเดือนกับสุขภาพ

ประจำเดือนกับสุขภาพ

หากคุณผู้หญิงสังเกตุให้ดีจะพบว่าหลายครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์ มักถามถึงลักษณะของประจำเดือนเมื่อคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งประจำเดือนมาบ่อยแค่ไหน ระยะเวลาที่มีประจำเดือนต่อครั้งนานหรือไม่ ประจำเดือนมีมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละครั้ง แต่หากคุณกำลังใช้ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดกินและฝังอยู่ ลักษณะของประจำเดือนในแต่ละครั้งอาจใช้เป็นข้อมูลไม่ได้ เนื่องจากเป็นผลจากยาคุมที่ทานอยู่ด้วย ดังนั้นการสังเกตุลักษณะของประจำเดือนของตัวเอง เพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ จะทำให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาง่ายขึ้นด้วย สิ่งที่ควรสังเกตุได้แก่

การที่ประจำเดือนมามากเกินไป

1 ใน 3 ของผู้หญิงประสบกับปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยประจำเดือนมามากหมายถึง ปริมาณเลือดที่ออกมามากกว่าปกติ สังเกตุจากการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ บางรายต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง หรือระยะเวลาที่มีประจำเดือนนานกว่าปกติ บางรายมีประจำเดือนมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุของอาการดังกล่าวอาจมาจากการทำงานระบบฮอร์โมนที่ผิดปกติ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ มีปัญหาเกี่ยวกับโลหิต รับประทานยาที่ลดการแข็งตัวของเลือด หรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดหรือแบบฝัง เป็นต้น

ทำไมบางครั้งการมีประจำเดือนมากกว่าปกติ ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น

ทุกๆครั้งที่มีประจำเดือน ผู้หญิงจะมีการเสียเลือด และเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ร่างกายจึงต้องสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น โดยมีวัตถุดิบเป็นธาตุเหล็ก ผลโดยรวมคือการมีประจำเดือนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็กได้ พบว่า 5% ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์พบปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะมีอาการหายใจสั้น อ่อนแรง เหนื่อยง่าย ตัวซีด และหัวใจเต้นไวขึ้น หากคุณมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจ และการรักษาหากมีความจำเป็น

ประจำเดือนขาดหาย

สาเหตุหลักของการที่ประจำเดือนขาดคือการตั้งครรภ์ แต่มีอีกหลายภาวะที่ทำให้ประจำเดือนขาดเช่น ความเครียด ระดับฮอร์โมนผิดปกติ น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือการรับประทานยาบางชนิด ซึ่งถ้าคุณไม่มีประจำเดือนติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการขาดประจำเดือน และควรสังเกตุอาการที่เกี่ยวข้องกันเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่แพทย์เช่น ผมหรือขนขึ้นมากเกินไป สิวขึ้น น้ำหนักเพิ่ม เป็นต้น แต่หากคุณกำลังเข้าสู่ช่วงวัยทองการที่ประจำเดือนขาดมานานจะจัดเป็นอาการปกติ

ประจำเดือนมาไวกว่าปกติ

โดยปกติแล้วประจำเดือนจะมาทุกๆ 3-5 สัปดาห์ (ประมาณทุก 21-35 วัน) ซึ่งในวัยรุ่นที่เริ่มมีประจำเดือนร่างกายจะใช้เวลา 1-2 ปีในการปรับให้เป็นรอบเดือนที่สม่ำเสมอ สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรอบเดือนคือ การออกกำลังกายมากเกินไป น้ำหนักที่ลดลง หรือความเครียด เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากรอบเดือนสั้นกว่า 3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย

สาเหตุของการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือนมาได้จากหลายสาเหตุเช่น การเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ผิดปกติ การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่ไม่เหมาะสม การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกหลังวัยทอง เป็นต้น ดังนั้นหากคุณมีอาการดังกล่าว และยังหาสาเหตุไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำ

สีของประจำเดือน

โดยปกติสีของประจำเดือนควรเป็นสีแดงสด หรือสีชมพูในบางครั้ง แต่หากสีของเลือดเข้มขึ้นกลายเป็นสีแดงเข้ม หรือน้ำตาลอาจมีบางอย่างในร่างกายผิดปกติไป แต่ต้องสังเกตุให้ดีว่าเป็นสีน้ำตาลเข้มตลอดหรือไม่ เพราะเลือดสามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน

อาการปวดท้องประจำเดือน

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะมีอาการปวดท้องประจำเดือน โดยจะปวดบริเวณท้องน้อย ต้นขา หรือว่าหลังด้วย ซึ่งอาการปวดท้องมักมีใน 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน และมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยง่าย หรือท้องเสีย อาการทั้งหมดเกิดจากการที่มดลูกพยายามบีบตัวเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ซึ่งอาการปวดทท้องนี้จะหายไปเมื่ออายุมากขึ้น หรือเคยคลอดบุตรแล้ว

แต่หากมีอาการปวดมากทุกครั้งที่มีประจำเดือน ควรพบสูตินรีแพทย์ เพราะอาจเป็นช้อกโกแลตซีสต์ หรือเนื้องอกมดลูกได้

อาการปวดท้องอื่นๆ

เป็นอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นก่อนการมีประจำเดือน และปวดนานกว่าการปวดประจำเดือนปกติ และไม่มีอาการอื่นร่วมนอกจากอาการปวดท้อง ซึ่งเป็นอาการที่อาจมีสาเหตุมาจากการมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก มีก้อนเนื้อในมดลูก หรือการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่รุนแรง จนทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้

การขับถ่ายที่ผิดปกติ

หากคุณมีอาการแสบขัดขณะถ่ายปัสสาวะ ท้องเสีย หรือท้องผูก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตุเช่นกัน เพราะจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคเยื่อบุเจริญนอกโพรงมดลูกได้ รวมถึงอาการอื่นๆเช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือปวดท้องประจำเดือนอย่างมาก เป็นต้น

อาการปวดศีรษะกับการมีประจำเดือน

เป็นอาการปวดศีรษะ ก่อนหรือพร้อมๆกับการมีประจำเดือน สัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำลง หรือสารสื่ออักเสบในร่างกายที่เพิ่มขึ้นจึงมีอาการปวดหัวคล้ายไมเกรนขึ้นมาได้ การรักษาและป้องกันสามารถใช้ยาแก้อักเสบชนิดเดียวกับยาแก้ปวดประจำเดือนได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยาดังกล่าว

การมีเลือดออกหลังจากที่เข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว

วัยทองคือการขาดประจำเดือนติดต่อกันมาแล้ว 1 ปี จะนับว่าเข้าสู่วัยทอง และหากมีประจำเดือนหลังจากนั้นอาจมีสาเหตุจาก เนื้องอกเกิดขึ้นมา ซึ่งอาจพัฒนาเป็นก้อนมะเร็งได้ หากมีเลือดออกหลังจากเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว ควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างเร่งด่วน

 

 

ขอบคุณที่มาจาก : healthsmile.co.th

Facebook Comments

Check Also

ผลไม้ อาหารสีดำ 10 อย่าง เพิ่มพลังสุขภาพ

ขอแนะนำเคล็ดลับ …