วันเสาร์ , เมษายน 20 2024
Breaking News
Home / อาหาร / อาหารคลีน หลักการรับประทานให้ได้ผลดี

อาหารคลีน หลักการรับประทานให้ได้ผลดี

 

อาหารคลีน อาหารของคนรักสุขภาพที่มีหลักพื้นฐานง่าย ๆ คืออาหารที่มีความเป็นธรรมชาติที่สุด ผ่านการแปรรูปและการขัดสีน้อยที่สุด และเป็นอาหารที่มากด้วยคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี รวมถึงไขมันชนิดดีที่ไม่อิ่มตัว โดยการได้รับอาหารเหล่านี้แทนอาหารแปรรูปขั้นสูงอย่างขนมขบเคี้ยว ของหวาน และอาหารพร้อมเสิร์ฟ จะช่วยลดปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล เกลือ และไขมันอิ่มตัวในร่างกายลงได้

อาหารคลีนอาจเหมาะสำหรับคนที่ชอบทำอาหารรับประทานเอง ในกรณีที่อยากมั่นใจว่าเป็นอาหารคลีนจริง ๆ หรือกำลังต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีกว่าเดิม ตลอดจนผู้ที่อยากเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนผู้ที่เป็นมังสวิรัติหรือไม่รับประทานอาหารที่มาจากสัตว์นั้นก็เลือกรับประทานอาหารคลีนได้เช่นกัน เพราะไม่จำเป็นต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้ แต่เลือกอาหารประเภทโปรตีนจากถั่วเหลือง ธัญพืช ผักผลไม้ และพืชตระกูลถั่วทั้งหลายแทน

การรับประทานอาหารคลีนมีพื้นฐานหลัก ๆ เพียงไม่กี่ข้อ ดังนี้

เลือกอาหารที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยลดอาหารแปรรูปและอาหารที่ผ่านการขัดสีทั้งหลายซึ่งจะเสียคุณค่าทางโภชนาการไประหว่างกระบวนการดังกล่าว รวมถึงอาหารที่มีการปรุงแต่งด้วยกลิ่นหรือสารสังเคราะห์ อาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาล เกลือ หรือไขมันในปริมาณสูง ได้แก่ ขนมกรุบกรอบ ของหวาน อาหารจานด่วน และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารคลีนนั้นไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรืออาหารแช่แข็งทุกชนิด เพราะบางอย่างก็มีประโยชน์ เช่น ไข่หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ และผักหรือผลไม้แช่แข็งที่มีกระบวนการแปรรูปเพียงเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งอาจประกอบด้วยสารอาหารเทียบเท่ากับผักผลไม้สด เนื่องจากถูกรักษาด้วยการแช่แข็งขณะที่ยังมีสภาพสดใหม่สูงสุด

เน้นคุณค่าทางสารอาหาร เมื่อลดอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ลงแล้ว ต่อไปก็คือการหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนเหมาะสม ได้แก่ อาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือแปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีเวลาอาจทำอาหารรับประทานเองที่บ้านบ่อยขึ้น หรือเตรียมอาหารเองจากบ้านแทนการเลือกรับประทานตามร้านข้างนอก เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปรุงขึ้นอย่างเป็นมิตรต่อสุขภาพที่สุด ซึ่งการเตรียมอาหารคลีนด้วยตนเองนั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด อาจเริ่มจากอาหารชนิดง่าย ๆ เช่น โยเกิร์ตธรรมชาติไขมันต่ำกับผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในมื้อเช้า ขนมปังโฮลวีท อกไก่ และผักผลไม้สำหรับมื้อกลางวัน เป็นต้น

ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย อีกหนึ่งข้อที่ผู้รับประทานอาหารคลีนหลายคนใส่ใจก็คือความสะอาด ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการเก็บรักษาและทำอาหาร เช่น การล้างผักผลไม้หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วยน้ำสะอาดก่อนทุกครั้ง หรือจะเลือกอาหารออร์แกนิค (Organic Food) เพื่อมั่นใจได้ว่าปลอดจากการใช้สารเคมีในกระบวนการปลูก เก็บแยกเนื้อดิบจากอาหารชนิดอื่น ๆ โดยเก็บเข้าตู้เย็นทันทีหลังจากซื้อมา รวมทั้งปรุงอาหารด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร

หลังจากปฏิบัติตามพื้นฐานข้างต้นได้แล้ว เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น บางคนอาจเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงการใช้ชีวิตประจำวันบางประการ

*รับประทานอาหารปลูกเอง เนื่องจากการซื้อวัตถุดิบหรืออาหารจากนอกบ้านในปัจจุบันนั้นไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะสะอาดและปลอดสารเคมีเต็มร้อย และบางครั้งมีราคาแพงว่าผักผลไม้ทั่วไป ผู้ที่มีบ้านพักอาศัยของตนเองอาจจัดสรรพื้นที่เสำหรับปลูกพืชผักไว้รับประทานเอง
*รับประทานอาหารที่ทำจากพืชให้มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มโปรตีนทางเลือกที่ได้จากพืชแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ และธัญพืชขัดสีน้อยที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น ควินัว ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น
*ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่ไปด้วย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการมีสุขภาพดี ทว่าการออกกำลังกายระหว่างวัน หมั่นผ่อนคลายจากความเครียด และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็นับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและไม่ควรละเลยเช่นกัน
*สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักบางคนอาจเลือกรับประทานโดยแบ่งเป็นมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อเล็ก ๆ ในทุก 2-3 ชั่วโมงด้วย ไม่ข้ามการรับประทานมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งเป็นมื้อสำคัญ เพื่อให้รู้สึกอิ่มและปรับระบบการเผาผลาญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตชนิดดีอย่างธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารคลีนนั้นไม่ได้มีนิยามหรือกฎที่ตายตัว แต่ยืดหยุ่นได้เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกต่อตนเองมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เพียงจำกัดปริมาณการรับประทานอย่างเหมาะสม ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นจากโรคบางชนิด

แนวทางการรับประทานอาหารคลีน

* เลือกอาหารที่ใกล้เคียงกับรูปแบบตามธรรมชาติที่สุด โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังจากการแปรรูป ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการแปรรูปไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น เลือกรับประทานแอปเปิลทั้งผลแทนน้ำแอปเปิล อกไก่แทนไก่ชุบแป้งทอด และผักสด ๆ แทนที่จะเป็นผักทอดกรอบ ควรเลือกอาหารที่ทำให้สุกด้วยการอบหรือย่าง ใช้น้ำมันจากไขมันชนิดดี เช่น น้ำมันมะกอก รวมทั้งใช้น้ำตาลและเกลือแต่น้อย
* เพิ่มการรับประทานธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย ซึ่งจะยังคงคุณค่าทางสารอาหารสูง เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และเลี่ยงขนมปังขาวหรือข้าวขาวที่มีคุณค่าโภชนาการน้อยลงหลังจากผ่านกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าการรับประทานธัญพืชไม่ผ่านการขัดสีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งลำไส้ได้ด้วย
* รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ บ้างกล่าวว่าการรับประทานแบบคลีนควรเป็นผักผลไม้สด ๆ เท่านั้น แต่มีบางแนวคิดที่ว่าผักผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง (โดยไม่ผ่านการแปรรูป เช่น การดองหรือเชื่อม) ก็เป็นอีกทางเลือกที่ให้คุณค่าทางสารอาหารได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรอ่านฉลากโภชนาการให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำตาลหรือเกลือมากเกินไป เปรียบเทียบและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังกล่าวน้อยที่สุด อีกทั้งควรเลือกผลไม้ทั้งผลแทนที่จะเป็นน้ำผลไม้ เพราะจะทำให้ได้รับน้ำตาลมากขึ้นและมีเส้นใยอาหารน้อยลง
* ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเลือกเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ เช่น น้ำเปล่าหรือชาสมุนไพร วันละ 6-8 แก้ว แทนการดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังช่วยให้รู้สึกอิ่มและมีพลังยิ่งขึ้น หรือหากอยากดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติบ้าง ให้ลองฝานมะนาวเป็นแผ่นบางหรือใช้ใบมินท์ช่อเล็ก ๆ ใส่ลงในน้ำก็จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้
* อาจเลือกพืชผลที่มีการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือออแกนิค ซึ่งเป็นการปลูกโดยใช้ยาไล่แมลงจากธรรมชาติแทนสารเคมี แต่หากหาซื้อได้ลำบากหรือไม่มั่นใจว่าผักผลไม้ที่ซื้อมาปลอดจากสารพิษ ก็มีวิธีหลีกเลี่ยงได้ด้วยการพยายามเลือกผักผลไม้ที่สามารถปอกเปลือกออกได้ เช่น อะโวคาโด หัวหอม ข้าวโพด เป็นต้น
* ลดอาหารที่ปรุงแต่งด้วยเกลือและน้ำตาล เพราะถือเป็นส่วนประกอบที่ไม่เป็นธรรมชาติและยังส่งผลเสียต่อร่างกายหากได้รับมากเกิน โดยอาหารซึ่งผ่านกระบวนการแปรรูปทั้งหลายที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันนั้นมักมีทั้ง 2 อย่างนี้เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง แม้แต่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพอย่างโยเกิร์ตหรือซอสมะเขือเทศก็ตาม ทางที่ดีควรอ่านฉลากก่อนซื้ออาหารใด ๆ และลองใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรในการปรุงรสอาหารแทนซอสหรือผงชูรสทั้งหลาย
* พยายามหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรืออาหารใด ๆ ที่มีการเติมแต่งกลิ่นและรสชาติอาหาร ทั้งสีผสมอาหาร สารให้ความหวาน วัตถุกันเสีย รวมถึงสารทุกชนิดที่มีการสังเคราะห์ขึ้น เพราะอาจตกค้างและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
* ผู้ที่รับประทานอาหารคลีนบางคนเลือกที่จะงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนทุกชนิด ทว่าบางคนอาจไม่เลือกทำตามข้อนี้ แต่เลือกดื่มในปริมาณที่พอดี อย่างไรก็ตาม ปริมาณคาเฟอีนที่ควรได้รับแต่ละวันไม่ควรเกินกว่า 400 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับกาแฟ 250 มิลลิลิตร จำนวน 3-5 แก้ว

อาหารคลีนดีจริงหรือ

การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างอาหารคลีน เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันแทนอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวว่าจะช่วยให้รู้สึกอิ่มขึ้น แต่ได้รับแคลอรี่น้อยลง นำไปสู่น้ำหนักที่ลดลงในที่สุด ทว่าหากต้องการจะให้เห็นผลชัดเจนควรออกกำลังกายควบคู่อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป

อาหารคลีนยังสามารถนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้อีกด้วย เพราะการลดน้ำหนักและรับประทานแต่อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการนั้นสามารถส่งผลดีต่อภาวะหรือโรคดังกล่าว ช่วยลดปริมาณยาต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานจากเดิม และยิ่งหากมีการออกกำลังกายที่ดีควบคู่ไปด้วยจะยิ่งเป็นประโยชน์และเห็นผลได้รวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารคลีนควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รู้จักยืดหยุ่น อาจมีวันที่ให้รางวัลแก่ตนเองด้วยการรับประทานอาหารตามที่อยากรับประทานบ้าง เพียงแต่ระมัดระวังไม่ให้เผลอรับประทานในปริมาณมากเกินพอดี เพราะการยึดตามหลักการรับประทานอาหารคลีนอย่างเคร่งครัดอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำตามได้ในระยะยาว และบางครั้งการได้รับอาหารบางชนิดที่เชื่อว่าไม่ดีเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่ได้ส่งผลเสีย เช่น บางงานวิจัยที่พบว่าแอลกอฮอล์ปริมาณเล็กน้อยอาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจ หรือที่พบว่าไขมันอิ่มตัวชนิดไม่ดีนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเด็ดขาด และถึงอย่างนั้นการได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาจไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังควรรับประทานอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อพลังงานที่ร่างกายต้องการ เนื่องจากสูตรรับประทานอาหารคลีนบางสูตรนั้นอาจจะมีแคลอรีต่ำเกินไปสำหรับผู้หญิงและผู้ชายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยและใช้พลังงานระหว่างวันมาก รวมถึงบางแหล่งข้อมูลที่แนะนำให้รับประทานอาหารเสริมควบคู่ไปด้วย ซึ่งข้อนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและไม่แนะนำให้ปฏิบัติตาม เพราะไม่อาจยืนยันได้ว่าจะปลอดภัยและได้ผลดี

 

 

ขอบคุณที่มาจาก : pobpad.com

Facebook Comments

Check Also

7 อาหารบำรุงสายตา แก้อาการเมื่อยล้าจากจอมือถือ

พนักงานออฟฟิศทั …