การมีสุขภาพดีเป็นที่ต้องการของทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสุขภาพดีได้อย่างที่ปรารถนา แต่ถ้าปฏิบัติตนได้ถูกต้อง การมีสุขภาพดีก็เป็นเรื่องที่ทำได้จริง ซึ่งนอกจากต้องออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การเลือกประเภทอาหารที่รับประทาน ยังส่งผลอย่างมากที่จะทำให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยหรือสะสมโรคเรื้อรังในระยะยาว
เราจึงได้รวบรวมอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาฝากกัน ดังนี้
- ถั่วเหลือง
เป็นธัญพืชที่มีราคาถูก แต่มีผลดีต่อสุขภาพอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะรับประทานในรูปแบบของน้ำเต้าหู้ ทั้งนี้แนะนำให้เสริมงาดำ เพื่อเพิ่มแคลเซียมแก่ร่างกาย และทำสูตรหวานน้อย เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน หรือเต้าหู้จากถั่วเหลือง ในเมนูอาหารต่าง ๆ เช่น ผัดผัก ต้มจืด ฯลฯ ก็จะเสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกและช่วยในการปรับฮอร์โมนให้สมดุลได้ โดยเฉพาะสตรีวัยทอง เนื่องจากมีสารไอโซฟลาโวนในระดับที่สูงกว่าธัญพืชทั่วไป
- แอปเปิล
เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ที่เหมาะกับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่าในแอปเปิลมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ ทั้งยังมีกรดมาลิกและทาร์ทาริก ที่ช่วยในการย่อยโปรตีนและไขมันจากอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อได้อีกด้วย การรับประทานแอปเปิลเป็นประจำ จึงทำให้สุขภาพดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
- ปลาทูน่า
เป็นปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันชนิดดีสูง ชื่อว่า โอเมก้า 3 ช่วยในการบำรุงสมองและหลอดเลือดได้ ที่สำคัญคือ มีไขมันน้อย โดยเฉพาะที่หนังปลา ลดความเสี่ยงต่อการอุดตันของไขมันใหม่ในเส้นเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานกลุ่มโปรตีนติดมันทั่วไป
- ไข่ไก่
การรับประทานไข่ไก่เป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ฟอง จะช่วยเสริมระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง ที่สำคัญคือ สารเลซิตินในไข่ไก่ สามารถช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูอาหารประจำวัน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ
- ปวยเล้ง
เป็นผักสีเขียวที่มีรสชาติอร่อย มีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูงที่ช่วยในการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจได้อย่างเป็นปกติสมดุลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในการบำรุงเลือดเพราะมีธาตุเหล็กและโฟลิค และมีปริมาณแคลเซียมสูง เมื่อรับประทานเป็นประจำจะลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย เทคนิคสำคัญคือ ในฤดูที่อากาศเปลี่ยนแปลง ควรรับประทานเมนูผักปวยเล้งบ่อย ๆ เพราะมีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันหวัดได้ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคนิ่วหรือโรคเก๊าต์ต้องระมัดระวังการรับประทาน การปรุงควรลวกน้ำร้อนแล้วเทน้ำทิ้งก่อน 1 ครั้งเพื่อลดปริมาณกรดออกซาลิก ที่มีความเสี่ยงในการรวมตัวกับแคลเซียม เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วได้
เรียกได้ว่า สารที่ยกตัวอย่างมา เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร หรือผักผลไม้ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เพียงนำมาทำเมนูอาหารให้บ่อยขึ้น และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนชนิดกันไป เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่จากสารอาหารที่หลากหลาย ควบคู่กับการดูแลสุขภาพด้านอื่น เช่น การออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ ลดความเครียด ก็รับรองได้ว่าสุขภาพของคุณและทุกคนในครอบครัวจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณที่มาจาก : Poinsettcountyfair
Facebook Comments