วันเสาร์ , กรกฎาคม 27 2024
Breaking News
Home / สุขภาพ / 10 เคล็ดลับฝึกกินอย่างมีสติ (Mindful eating) เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี

10 เคล็ดลับฝึกกินอย่างมีสติ (Mindful eating) เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี

เมื่อนึกถึงเรื่องกินเมื่อไหร่ หลายคนก็คงจะเกิดความสุขควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง

เพราะในแต่ละครั้งที่เรากินของอร่อยๆ ร่างกายจะหลั่งสารความสุขออกมาให้เรารู้สึกเพลิดเพลินไปกับการกิน จนลืมนึกไปถึงโทษต่างๆ ที่อาจจะตามมาจากพฤติกรรมดังกล่าว

เพราะอาหารบางอย่างที่คุณกินเข้าไป อาจจะไม่จำเป็นต่อร่างกายและเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพทางอ้อม วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับช่วยให้คุณสามารถ Enjoy Eating บนพื้นฐานของการบริโภคแบบมีสติ (Mindful eating)

เพื่อให้การกินของคุณเกิดเป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพกายและใจมากขึ้นในเวลาเดียวกัน

มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างกับ 10 เคล็ดลับการฝึกกินอาหารอย่างมีสติเพื่อสุขภาพที่ดี

1.ควรเลือกใช้จานขนาดเล็ก

การกินอาหารในแต่ละมื้อเพื่อให้อิ่มท้องมากที่สุด หลายคนก็คงจะเลือกจานที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้เพียงพอต่อการบรรจุปริมาณอาหารที่มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้สารอาหารที่ควรได้รับในร่างกายเกินความจำเป็น

บางครั้งก็กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณได้รับสารอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากเกินไป ดังนั้น ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ด้วยการใช้จานใบเล็กๆ หรือจานใบที่เล็กลงกว่าเดิมดู ซึ่งอาจจะทำให้คุณอิ่มในปริมาณที่พอดีได้เหมือนกัน

2.เลือกกินอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่

ควรเลือกกินอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ โดยประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งหาได้จากข้าว โดยอาจจะเลือกข้าวหรือแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายกว่าข้าวหรือแป้งขาว รองมาคือเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เป็นต้น

3.เคี้ยวช้าๆ และดื่มน้ำให้พอเหมาะ

ความหิว ทำให้คุณขาดสติในการเคี้ยวอาหาร ส่งผลให้เคี้ยวเร็วมากกว่าเดิม ทำให้อาหารชิ้นใหญ่ๆ ถูกกลืนลงไปโดยไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาอาหารไม่ย่อยตามมา

ทางแก้ง่ายๆ คือ ควรตั้งสติในการกินอาหาร และค่อยๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุดก่อนกลืน ที่สำคัญควรหมั่นจิบน้ำเป็นระยะระหว่างมื้อ เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

4.ควรกินตรงอาหารตามเวลา

การกินอาหารไม่เป็นเวลา หิวเมื่อไหร่ก็กิน พฤติกรรมนี้จะทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินในการกินอาหารผิดเวลาตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคกระเพาะอาหาร

ทางแก้ไขก็คือ ควรกำหนดเวลากินอาหารเป็นมื้อๆ อย่างน้อยคือ 3 มื้อใหญ่ๆ นั่นก็คือ เช้า กลางวัน และเย็น ส่วนก่อนนอน หากหิวจริงๆ ควรหาผักและผลไม้มากินแทน และควรหลีกเลี่ยงอาหารหนักๆ เพราะจะทำให้ย่อยยาก

5.ตักอาหารใส่ลงบนจานอย่างพอดี แล้วกินทีเดียวให้หมด

การตักอาหารที่คุณจะกินมาไว้ในจานทั้งหมด แล้วกินให้เสร็จสิ้นทีเดียว จะช่วยให้ร่างกายเกิดกระบวนการย่อยอาหารที่เหมาะสมมากขึ้น เนื่องด้วยหลายคนมักจะคุ้นเคยกับการตักไป กินไป ทำให้แม้ร่างกายจะอิ่มแล้ว แต่คุณก็ยังคงกินอยู่ อาจจะด้วยความเสียดายหรือกินเพลิน

เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการตักอาหารบ่อยครั้ง มาเป็นการตักใส่ลงบนจานอย่างพอดีแล้วกินให้อิ่มจบใน 1 จานเลยจะดีที่สุด จะได้ไม่ต้องกินแบบพร่ำเพรื่อบ่อยเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้คุณกินแบบไร้สติและยังทำให้อ้วนง่ายอีกด้วย

6.ทำ Food Diary หรือบันทึกการกินเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การทำ Food Diary เป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้คุณมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมมากขึ้น โดยคุณสามารถบันทึกบนไดอารี่ เพื่อกำหนดเมนูอาหารต่างๆ ในแต่ละมื้อ แต่ละวัน

เพื่อดูว่าวันนี้คุณกินอาหารที่มีสารอาหารสำคัญกับร่างกายมากน้อยแค่ไหน และกินบ่อยแค่ไหน นอกจากนี้ก็ยังสามารถช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้ด้วย เพราะหากคุณมีวินัยในการกิน และกินครบ 5 หมู่ และไม่เกินอัตราที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ สุขภาพก็จะดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

7.ไม่ควรกินขณะดูทีวีหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ

พฤติกรรมการกินอีกประการที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การกินอาหารพร้อมกับการทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ดูทีวี หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวอาจทำให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจจากการกินมากขึ้น ทำให้เผลอกินอาหารไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ และไม่รู้สึกอิ่มซะที

ทางที่ดีคือ เมื่อใดก็ตามที่กินอาหาร คุณควรเพ่งจุดสนใจไปที่จานอาหารตรงหน้านั้นๆ โดยกินให้เสร็จ แล้วจากนั้นจึงไปทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อได้

8.เลือกกินอาหารที่มีกากใยอย่างเพียงพอ

อาหารที่มีกากใยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผัก เพราะกากใยอาหารคือ สิ่งที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน โดยจะส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ทำให้ไม่เกิดปัญหาอาหารท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อย

ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ต่างๆ มาเป็นการกินผักหรือผลไม้ในระหว่างมื้อ ก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้นได้แน่นอน แถมยังดีต่อคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

9.ไม่ควรกินจนอิ่มมากเกินไป

หลายคนมักติดนิสัยความเคยชินในการกินอาหารให้อิ่มจนจุก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นผลดีต่อร่างกายอย่างยิ่ง การกินอาหารในแต่ละครั้ง

คุณควรหยุดกินเมื่อรู้สึกอิ่ม โดยคิดจาก 8 ใน 10 ส่วนของกระเพาะอาหาร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดภาวะอาหารไม่ย่อย หรือย่อยช้าจนจุกเสียดแน่นท้องได้

10.หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อลดความอยากอาหาร

การออกกำลังกายจะทำให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจจากการกินอาหารได้ และยังช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคุณให้มีวินัยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้สุขภาพกายและใจเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา เมื่อเราอารมณ์ดี สดใส ก็จะไม่กินจุบจิบหรือไม่กินบำบัดอารมณ์ โดยจะทำให้เราตระหนักกินอาหารแต่เฉพาะในช่วงเวลาหลักๆ เป็นเวลา 3 มื้อโดยตรงเท่านั้น

และนี่ก็คือ 10 วิธีฝึกกินอาหารอย่างมีสติ (Mindful eating) เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน

 

ขอบคุณที่มาจาก : organicbook.com

Facebook Comments

Check Also

5 อาหารสุขภาพ ต้านแก่ หน้าเด็ก ทำให้อ่อนเยาว์ ไม่แก่ไว

อายุและความเจ็บ …