สถิติการเสียชีวิตจากโรคร้ายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย นอกจากโรคมะเร็งที่คุ้นหูกันแล้ว โรคที่เกี่ยวเนื่องกับหลอดเลือดก็เป็นอีกสาเหตุที่มาแรงไม่แพ้กัน สถิติ ทั่วโลกพบว่าโรคหลอดเลือดอุดตันเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
บรรดาโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือด หัวใจที่ได้ยินกันบ่อยๆ นั้นมักจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของหลอดเลือดแดง แต่ยังมีโรคหลอดเลือดดำอุดตัน (venous thromboembolism) ที่ในบ้านเรายังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติที่แน่นอน แต่สถิติโลกกลับพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้มากเช่นกัน
ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุของโรคหลอดเลือดดำอุดตันมีหลายสาเหตุ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 60% พบมากที่สุดจากการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด คือ ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน และอีก 40% มีสาเหตุร่วมทั้งกรรมพันธุ์ การ รับประทานฮอร์โมนจำพวกยาคุมที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย หรือในกรณีที่เกิดขึ้นกับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งโตกดเบียดหลอดเลือดดำ และเนื้อร้ายสามารถสร้างสารเคมีที่ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัวง่าย ผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน รวมถึงอายุที่มากขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย
อาการของโรคสังเกตได้เบื้องต้นจากอาการบวมที่ขา ซึ่งแตกต่างจากอาการบวมที่มีสาเหตุจากโรคตับ ไต หรือหัวใจ ที่มีอาการขาบวมทั้ง 2 ข้าง แต่โรคหลอดเลือดดำอุดตันมีอาการบวมที่ขาข้างเดียว และจะไม่มีทางยุบ หรือหายบวมเองหากไม่ได้รับการรักษา นอกจากนั้น ยังมีวิธีสังเกตอื่น ๆ คือ สังเกตจากอาการแวดล้อมของโรค ถ้ามีอาการเหนื่อยเฉียบพลัน แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะมีบางกรณีที่คนไข้ไม่มีอาการบวมที่ขา
คุณหมออธิบายว่า กระบวนการทำงานของหลอดเลือดดำเป็นการจ่ายเลือดจากช่วงล่างของร่างกายไปยังหัวใจเพื่อฟอกเป็นเลือดแดงนำกลับออกมาหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีอาการบวมที่ขานั่นหมายความว่าเลือดดำมีการจับตัวเป็นลิ่มและไม่สามารถไหลกลับมาหมุนเวียนได้ ทำให้เลือดดำถูกส่งต่อไปยังปอดในรูปแบบลิ่มเลือด กรณีร้ายแรงที่สุด คือ ลิ่มเลือด อุดตันที่ปอดและเสียชีวิตในที่สุด
ส่วนการรักษาเบื้องต้นสำหรับอาการบวมที่ขาจะมีการตรวจอัลตราซาวนด์ก่อน หากลุกลามไปที่ปอดแล้วต้องเข้ารับการเอกซเรย์ ถ้าเป็นผู้ป่วยจากการฟื้นตัวหลังผ่าตัดต้องให้มีการลุกเดินเคลื่อนไหว ใส่ถุงน่อง หรือเครื่องปั๊มลมที่ขาเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดแม้ขณะที่นอนอยู่ บางรายมีความเสี่ยงที่ลิ่มเลือดจะอุดตันที่ปอด แพทย์อาจให้ยา รับประทานหรือฉีด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวหลังผ่าตัด แต่เป็นอาชีพที่ต้องนั่งนาน ๆ ให้พยายามขยับเคลื่อนไหวร่างกายโดยการลุกเดิน ออกกำลังกาย ทานผักผลไม้ และดื่มน้ำมาก ๆ
นพ.พลภัทรเปิดเผยอีกว่า หากลิ่มเลือดลุกลามไปถึงปอดแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 20% แต่ในหลายรายแม้จะลุกลามไปที่ปอดก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาสลายลิ่มเลือด ระยะเวลาให้ยาประมาณ 3 เดือน ซึ่งคนไข้ที่ให้ยาแล้วส่วนใหญ่จะหายขาด มีที่กลับมาเป็นซ้ำเพียง 2% ส่วนคนไข้ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคจากพันธุกรรมอาจจะรักษาให้หายขาดยากกว่าผู้ป่วยปกติ ก็ต้องดูความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำ ผลข้างเคียงจากยา และดูเป็นรายบุคคลไป
เพื่อการรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับสมาคมโลหิตวิทยา จึงจัดงาน “วันหลอดเลือดอุดตันโลก” (World Thrombosis Day-วันที่ 13 ตุลาคม) ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานมีการเผยแพร่ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายของโรคมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณที่มาจาก : thaihealth.or.th
Facebook Comments