ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(Dietary supplements หรือ Food supplements หรือ Nutritional supplements) ในทางเภสัชกรรมหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ โดยจะมีส่วนประกอบของสารอาหาร และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เอนไซม์ หรือ ใยอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่เหมือนกับยา (Drugs) จึงไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่ผู้ป่วย
อนึ่ง ในทางเภสัชกรรม “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” จะแตกต่างจาก “อาหารเสริม(Dietary supplement)” ซึ่ง อาหารเสริม หมายถึง อาหารที่ให้รับประทานเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) โดยการให้อาหารเสริมมีวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย หรือเพื่อช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตที่ดี เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาหารเสริม)
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารเสริม คืออย่างเดียวกัน และมักเรียกรวมๆว่า “อาหารเสริม”
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีกี่ประเภท?
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้
- วิตามิน (Vitamins): เช่น วิตามินเอ (Vitamin A), วิตามินบี (Vitamin B), วิตามินซี (Vitamin C), วิตามินดี (Vitamin D), วิตามินอี (Vitamin E), กรดโฟลิก (Folic acid)
- แร่ธาตุหรือเกลือแร่ (Minerals): เช่น แคลเซียม (Calcium), สังกะสี (Zinc), เหล็ก (Iron), แมกนีเซียม (Magnesium), ซิลีเนียม (Selenium)
- กรดอะมิโน (Amino acids): เช่น ทริปโตเฟน (Tryptophan), กลูตามีน (Glutamine), อาร์จินีน (Arginine), ไทโรซีน (Tyrosine), ทอรีน (Taurine), กรดอะมิโนโซ่กิ่ง (Branched-chain amino acids, BCAA) ซึ่งประกอบไปด้วย วาลีน (Valine), ไอโซลิวซีน (Isoleucine) และลิวซีน (Leucine)
- กรดไขมัน(Fatty acids): เช่น กรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3 fatty acid)กรดไขมันโอเมก้า-6 (Omega-6 fatty acid)
- สมุนไพร และสารสกัดจากพืช (Herbs and herbal extracts): เช่น สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed), ขิง (Ginger), กระเทียม (Garlic), เอ็กไคนาเซีย (Echinacea), แปะก๊วย (Ginkgo Biloba), เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s Wort), โสม (Ginseng), วาเลอเรียน (Valerian), คาวา (Kava)
- สารสกัดจากสัตว์ (Animal extracts): เช่น น้ำมันปลา (Fish oil), น้ำมันตับปลา(Cod liver oil), สารสกัดจากหอยนางรม (Oyster extract), กระดูกอ่อนปลาฉลาม (Shark cartilage)
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้ คือ
- เม็ด (Tablet)
- เม็ดฟู่ (Effervescent Tablet)
- แคปซูล (Capsule)
- แคปซูลนิ่ม (Soft gelatin capsule)
- เยลลี่เคี้ยว (Gummy)
- ผง (Powder)
- อิมัลชัน (Emulsion)
- น้ำเชื่อม (Syrup)
มีข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น
- ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เช่น ได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริม ในผู้ที่ไม่รับประทานผักหรือผลไม้ หรือรับประทานได้น้อย
- ใช้บำรุงร่างกาย และช่วยให้ระบบอวัยวะต่างๆในร่ายกายทำงานได้ตามปกติ
- อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูง
มีข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้สารนั้นๆ
- ห้ามรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทนยารักษาโรค
มีข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร ?
มีข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่อาหารหลัก ดังนั้นผู้บริโภคยังต้องบริโภคอาหารหลัก/อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถใช้รักษาโรค หรือใช้ลดน้ำหนัก เพราะอาจมีส่วนผสมอื่น เช่นยาลดความอ้วน ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
- ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีฉลากถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีฉลาก ตัวอย่างเช่น สมุนไพร จะทำให้ไม่ทราบถึง ชนิด ความแรง และ/หรือ ปริมาณที่ได้รับ อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่รับประทานอยู่ได้
- ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับยาบางชนิด ตัวอย่างเช่น หากรับประทานยา Warfarin หรือ Aspirin ร่วมกับสารสกัดจากแปะก๊วย หรือวิตามินอี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดไหลไม่หยุดได้, St. John’s Wort มีผลทำให้ระดับยาบางชนิดลดลง เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาคลายเครียด ยากันชัก ยาเม็ดคุมกำเนิด จนอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น น้ำมันปลา สารสกัดจากกระเทียม แปะก๊วย โสม และวิตามินอี ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากแผลผ่าตัดได้ นอกจากนี้ วาเลอเรียน และคาวา เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาสลบที่ใช้ในระหว่างผ่าตัดได้
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในหญิงตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตรควรเป็น ดังนี้ เช่น
- หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกเสริมในปริมาณ 800 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects) ของทารกในครรภ์
- หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมเสริมในปริมาณ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดีเสริม 60 IU ต่อวัน เพื่อให้กระดูกและฟันของทั้งมารดา และทารกในครรภ์แข็งแรง
- ไม่ควรรับประทานวิตามินเอเสริม เพราะโดยปกติจะได้รับจากอาหารอย่างเพียงพอแล้ว (ปริมาณวิตามินเอที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ คือ ไม่เกิน 8,000 หน่วย/IU/International unit ต่อวัน) การได้รับวิตามินเอในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
- เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาต่างๆหลายชนิด จึงควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่รับประทานอยู่ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- หากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง อาจทำให้ได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร (Dietitian) หรือนักโภชนาการ (Nutritionist) เพื่อพิจารณาว่าควรได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดเพิ่มเติม
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
- ถ้าเด็กรับประทานอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)ได้อย่างเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอในเด็ก
- หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรเลือกชนิดที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และรับประทานตามปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับสารอาหารที่มากเกินไป
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจพบได้ดังนี้ เช่น
- ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามปริมาณที่กำหนดไว้บนฉลาก หรือไม่เกินร้อยละ(%)ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน (% Daily Value) หากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้มีสารเหล่านั้นสะสมอยู่ในร่างกาย และส่งผลให้ทำให้ตับหรือไตทำงานหนัก เพื่อขับสารเหล่านั้นออกจากร่างกาย จนอาจเกิดอันตรายต่อตับและไตได้
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จากมียาฆ่าแมลงที่ใช้ หรือจากมีโลหะหนักตกค้าง
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย,) อาจไม่ระบุสารสำคัญทุกชนิด ไม่ระบุปริมาณสารอาหารที่ได้รับ หรืออาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีปริมาณสารอาหารมากหรือน้อยกว่าที่ระบุบนฉลาก อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น ผลต่อ ไต ตับ และระบบเลือด
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ขอบคุณที่มาจาก : haamor.com
Facebook Comments