วันเสาร์ , กรกฎาคม 27 2024
Breaking News
Home / สุขภาพ / อาการปวดหลังแบบไหนควรพบแพทย์

อาการปวดหลังแบบไหนควรพบแพทย์

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบอาการ “ปวดหลัง” จนกลายเป็นปัญหากวนใจมาแล้ว บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อย บางคนมีอาการเป็นวันหรือเป็นเดือน ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปอาการปวดหลังที่ไม่อันตราย ส่วนใหญ่หากได้พักผ่อน อาการจะดีขึ้น และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เมื่อมีอาการปวดที่รุนแรงหรือมีอาการนานเป็นเดือน มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และเกิดจากสาเหตุที่อันตราย

อาการปวดหลัง แบ่งเป็น 3 แบบตามระยะเวลา ดังนี้

  • ปวดแบบเฉียบพลัน (acute) คือ มีอาการปวดต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  • ปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute) คือ มีอาการปวดหลังต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์
  • ปวดแบบเรื้อรัง (chronic) คือ มีอาการปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์

อาการปวดหลังส่วนบน
อาการปวดหลังส่วนบน มักเกิดร่วมกับอาการปวดคอ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสมระหว่างวันเช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการก้มเล่นมือถือนานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคออฟฟิศชินโดรม” อาการปวดหลังส่วนบนนี้ อาจพบได้ในโรคของกระดูกต้นคอ ที่ทำให้เกิดอาการปวดคอร่วมกับอาการปวดหลังส่วนบน

อาการปวดหลังช่วงเอว หรือ อาการปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังระดับเอว หรือ อาการปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) เป็นอาการปวดที่พบบ่อยที่สุดของ “โรคทางออร์โธปิดิกส์” หรือ “โรคทางกระดูกและข้อ” โดยสาเหตุเกิดจาก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ จากกล้ามเนื้อหลังและจากข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยจะมีอาการปวดหลังบริเวณเอวต่ำกว่าขอบของซี่โครงซี่ล่างสุด จนถึงบริเวณสะโพกและก้น มีอาการมากขึ้นหรือลดลงสัมพันธ์กับท่าทางการเคลื่อนไหวหรือการทำงาน หรืออาจปวดตลอดเวลาโดยไม่สัมพันธ์กับท่าทาง บางรายอาจมีอาการปวดกลางคืนมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับพยาธิสภาพของโรคนั้นๆ

อาการปวดหลัง “ด้านซ้าย” หรือ “ด้านขวา”
อาการปวดหลังด้านซ้ายหรือปวดหลังด้านขวา มักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหลังผิดปกติ หรือกระดูกอ่อนอักเสบ, อุบัติเหตุ, การกระแทก, การเกร็ง หรือยกของหนัก และสาเหตุอื่นๆ เช่น แน่นหน้าอกจากสาเหตุทางโรคหัวใจ, หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอก, กรดไหลย้อน, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, โรคไต, นิ่วในไต หรือปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

สัญญาณเตือนอาการ “ปวดหลัง” แบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
อาการปวดหลังที่ควรรีบปรึกษาแพทย์ ได้แก่ อาการปวดหลังที่เป็นอยู่นาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือน (chronic low back pain)
  • มีอาการปวดรุนแรง พักหรือรับประทานยาแก้ปวดพื้นฐานแล้วไม่ดีขึ้น จนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
  • ปวดร้าวลงมาต้นขา ขาหรือ ลงไปปลายเท้า ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • มีความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น ชาขา เท้า หรือมีอาการแสบร้อน มีการอ่อนแรงของขา
  • ไม่สามารถนั่ง หรือยืนเดินนานได้ ร่วมกับปวดร้าวลงขา

สำหรับอาการเหล่านี้ มักมีสาเหตุมาจาก “หมอนรองกระดูกสันหลัง” หรือ “ข้อต่อกระดูกสันหลัง” หรือ “โพรงประสาทหลัง” ไปเบียดหรือกดทับรากประสาทที่ลงมาขา จึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน

และอีกหนึ่งอาการของโรคของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือ “โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ” เกิดจากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง (หมอนรองกระดูกเป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อกระดูกสันหลัง) ทำให้โพรงประสาทแคบลงจนไปเบียดรากประสาทหรือเบียดไขสันหลังซึ่งพบบ่อยมากที่ข้อกระดูกสันหลังระดับเอว

อาการ “โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ”
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังส่วนล่างร้าวลงมาสะโพก มีอาการร้าวลงมาขาข้างหนึ่งหรือสองข้าง บางครั้งมีอาการปวดร้าวลงไปปลายเท้า อาการจะเป็นมากขณะยืนหรือเดินเป็นเวลานาน บางครั้งมีอาการชาหรืออ่อนแรงขาร่วมด้วย ต้องก้มตัว, นั่งพัก บางคนต้องนั่งยองๆ เพื่อให้อาการดีขึ้นจนสามารถยืนและเดินต่อได้ อาการมักค่อยเป็นค่อยไป จนมากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถยืนหรือเดินนานได้

ทั้งนี้ เมื่อตรวจร่างกายมักจะพบ หลังช่วงเอวแอ่นน้อยๆ หรือมีหลังค่อม ขยับหลังแล้วปวดร้าวลงขา ร่วมกับตรวจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยรากประสาทนั้นๆ หรือความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น ชาหน้าแข้ง หรือหลังเท้า

ส่วนการตรวจวินิจฉัยโรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ มักใช้การถ่ายภาพรังสี จะพบความเสื่อมของหมอนรองกระดูกเอว ข้อต่อกระดูกสันหลัง บางครั้งพบความผิดรูปของข้อต่อ เช่น หลังคด (scoliosis), กระดูกเคลื่อน (spondylolisthesis) แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยขยับตัวขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ (motion film) เพื่อประเมินความไม่มั่นคงของข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยแพทย์อาจแนะนำการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินตำแหน่งที่รากประสาทถูกกดทับ ความเสื่อมหมอนรองกระดูกตลอดจนระดับความรุนแรงของการตีบของโพรงประสาท

วิธีการรักษา “โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ”

เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ หรือการใช้งานข้อต่อกระดูกสันหลังมากเป็นเวลานาน การลดการใช้งาน หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น งดการยืนเดินเป็นเวลานาน, ทำการฟื้นฟู รวมทั้งกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด ปรับท่าทางการใช้งานหลังให้ถูกต้อง และเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่สำคัญ ร่วมกับการรับประทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลาหนึ่งตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้อาการหายไปได้

ดังนั้น ถ้ามีอาการอ่อนแรงขามากจนเดินยืนไม่ได้ อาการปวดรุนแรงไม่ดีขึ้นจากการทานยา มีความไม่มั่นคงของข้อต่อหลัง หรือมีอาการผิดปกติของการขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตลอดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

สุดท้ายนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเคย “ปวดหลัง” จึงอาจคิดว่าอาการปวดหลังเป็นเรื่องปกติ ที่เป็นกันได้ และหายเองได้ บางคนใช้วิธีหายาแก้ปวดมารับประทานเพื่อให้อาการดีขึ้น หรือทายาแก้ปวด แต่หากมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดรุนแรง มีปวดร้าวไปที่ขาหรือเท้า มีอาการแสบร้อนหรือยืนหรือเดินไม่ได้ อาการเหล่านี้คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดา เพราะอาการปวดหลังนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติหรือโรคต่างๆ ดังนั้นจำเป็นต้องรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป.

ที่มา : thairath.co.th

Facebook Comments

Check Also

5 อาหารสุขภาพ ต้านแก่ หน้าเด็ก ทำให้อ่อนเยาว์ ไม่แก่ไว

อายุและความเจ็บ …