วันเสาร์ , กรกฎาคม 27 2024
Breaking News
Home / ลดน้ำหนัก / การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

การออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมการดูแลตนเองที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอจะได้รับประโยชน์หลายอย่างทั้งทางตรง และทางอ้อม ได้แก่ ทำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด

ได้ในระยะยาว ช่วยลดนํ้าหนัก ลดไขมันที่เกาะตามร่างกาย ลดความดันโลหิต ป้องกันโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ช่วยเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อในการตอบสนองต่ออินซูลิน ช่วยลดความเครียด และทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส จากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานที่ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลานาน 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดได้ดีและ มีความสมบูรณ์ของร่างกายดีกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายแม้เพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ตาม

ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเรียนรู้วิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและมาออกกำลังกายกันเป็นประจำเถอะ

ก่อนออกกำลังกายผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการประเมินสกาพร่างกายก่อน เพื่อจะได้วางแผนการออกกำลังกายตามความหนัก เบา ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยสามารถปรึกษากับแพทย์หรือพยาบาลที่ท่านไปรับบริการได้ว่า วิธีการออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะสมกับท่าน หรือถ้าท่านเป็นโรคเบาหวานได้ไม่นาน ไม่มีโรคแทรกซ้อน ท่านก็สามารถประเมินตนเองและเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวท่านได้เอง

ชนิดของการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ป่วยแต่ละคน ควรเลือกชนิดที่ไม่เสี่ยงอันตรายและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย อาจเป็นการเดินระยะไกล การวิ่งเบาๆ การว่ายนํ้า การเต้นแอบิค เป็นต้น ใช้เวลาอยู่ในช่วง 20 – 45 นาที การใช้เวลานานกว่านี้อาจทำให้เกิดปัญหานํ้าตาลในเลือดตํ่าได้ หรือ การใช้เวลาสั้นกว่านี้จะไม่เกิดประโยชน์ในการควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด ควรออกกำลังกายสมํ่าเสมออย่างน้อย 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์

เวลาที่เริ่มออกกำลังกายไม่ควรเป็นเวลาที่ท้องว่าง ผู้ป่วยเบาหวาน ควรออกกำลังกายหลังจากที่รับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หรือ ก่อนไปออกกำลังกายอาจรับประทานอาหารว่างเป็นนม 1 กล่อง ขนมปัง 1 แผ่น หรือผลไม้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการป้องกันการเกิดอาการนํ้าตาลในเลือดตํ่าขณะออกกำลังกาย

เมื่อเริ่มออกกำลังกายควรเริ่มด้วยการอุ่นเครื่องโดยทำท่ากายบริหารง่ายๆ ก่อนประมาณ 5-10 นาที เป็นการเตรียมกล้ามเนื้อ หัวใจ และปอด หลังจากออกกำลังกายเสร็จไม่ควรหยุดพักทันที ให้ออกกำลังกายเบาๆ เหมือนช่วงการอุ่นเครื่องใช้เวลา 5-10 นาทีเช่นเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นการวิ่งควรลดมาเป็นการเดิน ขณะออกกำลังกายผู้ป่วยควรระมัดระวังการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เท้า ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้า ควรมีการเตรียมทอฟฟี่ หรือ นํ้าหวานไว้ให้พร้อมในกรณีที่เกิดอาการนํ้าตาลในเลือดตํ่าจะได้แก้ไขได้ทันที ขณะออกกำลังกายถ้ารู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรหยุดพัก และจดจำอาการผิดปกติเหล่านั้นๆ ไว้ เมื่อไปตรวจตามนัดควรเล่าให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อประโยชน์ในการปรับการรักษาต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้วการออกกำลังกายควรปรึกษากับแพทย์หรือพยาบาลก่อน          เพี่อเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนออกกำลังกาย และควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลก่อน ได้แก่

  1. ผู้ป่วยเบาหวานที่อายุมากกว่า 35 ปี
  2. ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานมากกว่า 10 ปี
  3. ผู้ที่มีอาการบ่งบอกถึงภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เคยมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น
  4. ผู้ที่มีอาการบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดขนาดเล็ก ได้แก่ มีการมองเห็นผิดปกติที่เกิดจากจอประสาทตาเสื่อม มีอาการชาที่เท้าซึ่งบ่งบอกถึงระบบประสาทเสื่อมและอาการไตวาย

ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควรออกกำลังกายคือ ผู้ป่วยที่มีระดับนํ้าตาลในเลือดก่อนอาหารเช้ามากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีการติดเชื้อในร่างกาย หรือ มีภาวะเป็นกรดในร่างกาย ผู้ป่วยควรได้รับการแก้ไขอาการต่างๆ ดังกล่าวก่อน จนอาการเข้าสู่ภาวะปกติ แล้วจึงวางแผนในเรื่องการออกกำลังกายในภายหลัง

คนรอบข้างผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นบุคคลที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นผู้ป่วย ให้ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ และถ้าเป็นไปได้การชักชวนกันไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะใกล้บ้านกันทั้งครอบครัว ก็จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและสร้างสุขภาพที่ดี

 

ขอบคุณที่มาจาก : healthcarethai.com

Facebook Comments

Check Also

ไขข้อข้องใจ กินส้มตำ ช่วยลดความอ้วนได้จริงมั้ย? มาดุคำตอบกัน

สำหรับคนที่มีไอ …