หน้าตาจะดูทรุดโทรมหรือสวยเด้ง ในสายตาของคนที่พบเจอนั้น มีหลายส่วนบนใบหน้าที่เป็นตัวกำหนดค่ะ หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์คือ ผิวบริเวณรอบดวงตา หากผิวรอบดวงตามีสัญญาณสำคัญคือ ใต้ตาคล้ำ บวม เหี่ยว หรือแห้ง จะส่งผลให้ใบหน้าดูอิดโรย หรือโทรมได้
ผิวรอบดวงตาที่ทรุดโทรมเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยคือ
- โรคประจำตัวบางอย่าง ที่ส่งผลต่อผิวรอบดวงตา เช่น ภูมิแพ้ ซึ่งจะมีการบวมของโพรงไซนัส อาจร่วมกับอาการคันที่เปลือกตา ส่งผลให้หนังตาล่างดูบวมและคล้ำขึ้นได้เมื่อเป็นเรื้อรัง
- นอนดึก หรือ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการติดเล่นมือถือหรือแท็บเบล็ตจนอดนอน
- อายุที่มากขึ้น ผิวบางลง ส่งผลให้ผิวใต้ตาดูคล้ำและเหี่ยวขึ้น
- ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น
- การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่รุนแรงกับผิว หรือการเช็ดเครื่องสำอางด้วยน้ำหนักมือที่รุนแรงเกินไป
สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาผิวรอยคล้ำใต้ดวงตานั้น อาจสรุปได้เป็นห้าวิธีการง่ายๆที่สามารถดูแลได้ด้วยตัวเองดังนี้ค่ะ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉลี่ยแล้วควรนอนหลับพักผ่อนได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และเข้านอนก่อนเที่ยงคืน เพื่อให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ
- ถ้ามีโรคประจำตัวซึ่งอาจส่งผลต่อผิวรอยคล้ำใต้ดวงตาได้ เช่น โรคภูมิแพ้ ควรรักษาให้อาการดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการคันบริเวณเปลือกตา ควรรักษาให้หาย
- อ่อนโยนต่อผิวรอบดวงตา โดยเฉพาะเวลาเช็ดเครื่องสำอาง ควรใช้สำลีเนื้อนุ่ม คลีนเซอร์ที่อ่อนโยนกับผิว ปราศจากสารลดแรงตึงผิว และเช็ดอย่างเบามือ การเช็ดที่รุนแรงไม่ปราณีกับผิว จะส่งผลให้ผิวระคายเคืองและแห้งเหี่ยวมากขึ้นได้
- ถ้าต้องตากแดดมาก ควรปกป้องผิวด้วยครีมทาใต้ตาที่มีส่วนผสมของสารกันแดด รวมถึงใส่แว่นกันแดดกรอบกว้างเพื่อปกป้องดวงตา
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีค่าพีเอชสมดุลกับผิว มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น SOD, Glutathione, Catalase ร่วมกับสารให้ความชุ่มชื้นเช่น Hyaluronic acid สารที่มีคุณสมบัติลดการบวมเช่น Caffeine และลดความหมองคล้ำของผิวรอบดวงตาเช่น Dermochlorella seaweed
หากปฏิบัติตามวิธีการทั้งห้าแล้ว ผิวรอบดวงตายังไม่ฟื้นสภาพ คงจะต้องอาศัยทางลัด ทาคอนซีลเล่อร์ทับ ใส่แว่นตาดำกลบเกลื่อน แล้วหาเวลาไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพราะอาจต้องอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นๆ เช่น การฉีดสารฟิลเลอร์ การฉีดสารโบทูลินั่มท็อกซิน การทำเลเซอร์ปรับสภาพผิว หรือการใช้อัลตราซาวด์ความเข้มสูง ซึ่งแต่ละเทคนิคจะเหมาะกับปัญหาผิวที่แตกต่างกันไป แพทย์จะประเมินและดีไซน์การรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ 🙂
ขอบคุณที่มาจาก : vichy-th.com
Facebook Comments