ผักบุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่รู้จักมักคุ้นกันดี เพราะมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วผักชนิดนี้ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะผักบุ้งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญมากมาย
สายพันธุ์ของผักบุ้ง
ก่อนจะทราบถึงประโยชน์ของผักบุ้ง มาดูกันก่อนว่าผักบุ้งที่ทุกคนนิยมนำมารับประทานกันนั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง ในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน สำหรับผักบุ้งไทยจะเป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง จึงมียางมากกว่าผักบุ้งจีน ส่วนผักบุ้งจีนจะเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยส่วนมากที่นิยมปลูกขายก็คือผักบุ้งจีน เพราะจะมีลำต้นค่อนข้างขาวอวบ ใบเขียวอ่อน ดอกขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย จึงเป็นที่นิยมในการรับประทานมากกว่าผักบุ้งไทย
ผักบุ้ง 100 กรัมจะให้พลังงานถึง 22 กิโลแคลอรี และประกอบไปด้วยด้วยเส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก เป็นต้น ซึ่งผักบุ้งไทยนั้นจะมีวิตามินซีสูงและมีสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนน้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานแบบสด ๆ ได้ก็จะทำให้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุไม่เสียไปกับความร้อนอีกด้วย
แต่มีข้อยกเว้นคือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เนื่องจากผักบุ้งจะมีคุณสมบัติลดความดันโลหิต จนทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปอีก อาจจะก่อให้เกิดการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น และทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย
27 ประโยชน์ดีๆ ที่อาจยังไม่รู้จากผักบุ้ง
- ช่วยบำรุงสายตา รักษาอาการสายตาสั้น ตาต้อ ตาฝ้าฟาง ตาแดง และอาการคันตาบ่อย ๆ
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล
- ช่วยป้องกันและลดโอกาสในการเป็นโรคมะเร็ง
- เพิ่มศักยภาพในการบำรุงสมองและเพิ่มความสามารถในการจดจำ
- มีกากใยมากช่วยในการขับถ่าย ป้องกันการท้องผูก
- บำรุงโลหิตและช่วยรักษาโรคโลหิตจาง
- สามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยบำรุงหัวใจ ลดการเกิดไขมันอุดตันเส้นเลือดและหัวใจวาย
- มีแคลอรีต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาทได้
- ช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะและอ่อนเพลีย
- ต้นสดของผักบุ้งไทยช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
- ผักบุ้งมีรสเย็น จึงมีสรรพคุณช่วยถอนพิษเบื่อเมา
- รากผักบุ้งมีรสจืดเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยในการถอนพิษสำแดง
- ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ
- ดอกของผักบุ้งไทยต้นขาวสามารถใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้
- ใช้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
- แก้แผลมีหนองช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดมาต้มน้ำให้เดือดนาน ๆ ทิ้งไว้พออุ่นแล้วนำน้ำมาล้างแผลวันละครั้ง
- แก้พิษตะขาบกัด ด้วยการใช้ต้นสดเติมเกลือนำมาตำพอกบริเวณที่ถูกกัด
- ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวนำมาใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้
- ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวจะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดบวมได้
- ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
- สามารถใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหรือผู้ที่ได้รับสารพิษต่าง ๆ ได้
ในส่วนของรากผักบุ้ง
รากที่เรามักจะตัดทิ้งก่อนจะรับประทานก็มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้โรคหอบหืด บรรเทาอาการไอเรื้อรัง และยังช่วยลดอาการตกขาวในสตรีอีกด้วย นำรากผสมน้ำส้มสายชู คั้นมาบ้วนปากจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากฟันผุได้อีกด้วย
ในส่วนของต้นผักบุ้งสด
มีสรรพคุณเป็นยาเย็น ช่วยในการดับร้อน แก้อาการร้อนใน และยังช่วยบำรุงโลหิตอีกด้วย หากต้องการใช้ในการรักษาแผลร้อนในภายในปาก ให้นำผักบุ้งสดกับเกลืออมไว้ในปาก 2 นาที วันละ 2 ครั้ง และถ้าเป็นผักบุ้งไทยสามารถช่วยลดอาการบวมพุพองได้ รักษาแผลน้ำร้อนลวก และแก้อักเสบได้อีกด้วย
ผักบุ้งยังมีสรรพคุณในการถอนพิษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากสารเคมีจำพวกยาฆ่าแมลง หรือแม้กระทั่งพิษจากตะขาบ นำต้นผักบุ้งสดมาผสมกับเกลือ นำมาตำแล้วนำไปพอกบริเวณที่ถูกกัด แก้พิษจาการเบื่อเมา
ผักบุ้งยังมีสรรพคุณอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยในเรื่องการขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลือง และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ ไม่คาดคิดคือสามารถใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติดได้อีกด้วย
ผักบุ้งจึงถือเป็นผักสวนครัวที่ปลูกง่าย มีราคาถูก ในชนบทสามารถหาเก็บได้ทั่วไปเสียด้วยซ้ำ แต่ใครจะรู้ว่าผักชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยาแฝงไว้อย่างมากมาย และเหตุผลที่ร้านอาหารมักจะใส่ผักบุ้งไว้ในจานอาหาร ก็เพราะผักชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยให้เราเจริญอาหารมากขึ้นนั่นเอง
ข้อควรระวังในการรับประทานผักชนิดนี้คือการล้างยางออกให้หมด เพราะอาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
รับประทานผักบุ้งไทยหรือผักบุ้งจีน
หลาย ๆ คนมักจะชอบรับประทานผักบุ้งจีนมากกว่าผักบุ้งไทย เพราะนำไปผัดแล้วอร่อยกว่ากันมาก ทั้งยังมีใบที่ใหญ่ อ่อนนุ่ม ไม่แข็งเหมือนผักบุ้งไทย แต่ผักบุ้งไทยนิยมนำไปรับประทานดิบร่วมกับส้มตำและลาบ โดยผักบุ้งไทยจะโดดเด่นในเรื่องของสรรพคุณทางยา เพราะสามารถนำดอกไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ทั้งการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาหารแพ้ต่าง ๆ แต่ผักบุ้งจีนถือได้ว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า รวมไปถึงมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนมากกว่าผักบุ้งไทย ดังนั้นประโยชน์ของทั้งผักบุ้งทั้ง 2 ประเภทจึงแตกต่างกัน
ทำไมผักบุ้งจึงช่วยบำรุงสายตา ?
คำกล่าวแต่อดีตถึงประโยชน์ของผักบุ้งที่ช่วยในการบำรุงสายตานั้นคือความจริง เนื่องจากผักบุ้งมีสารที่ชื่อ “เบต้าแคโรทีน” จำนวนมาก (โดยเฉพาะผักบุ้งจีน) ซึ่งเบต้าแคโรทีนนี้สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ภายหลัง และสรรพคุณของวิตามินเอคือการช่วยบำรุงสายตา เพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงในดวงตา ทำให้ตาไม่แสบ ไม่แห้ง แลดูเป็นประกาย ดังนั้นหากคุณต้องทำงานที่จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรืออาชีพที่ต้องใช้สายตาบ่อย ๆ การรับประทานผักบุ้งเป็นประจำก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างวิตามินเอให้กับร่างกาย เป็นการรับประทานอาหารเพื่อบำรุงสายตาโดยตรง
เห็นคุณประโยชน์มากมายแบบนี้แล้ว ก็ลองคิดเมนูที่ทำจากผักบุ้งเอาไว้ได้เลย ทั้งอร่อย มีประโยชน์ แถมราคายังถูกมากอีกด้วย แต่ถ้าให้ดีควรรับประทานผักบุ้งสด ๆ หรือผักบุ้งลวกก็จะได้คุณประโยชน์อย่างครบถ้วนแน่นอน
ขอบคุณที่มาจาก : honestdocs.co
Facebook Comments