วันเสาร์ , กรกฎาคม 27 2024
Breaking News
Home / สุขภาพ / ความสุขทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ยังไง น่าสนใจใช่มั้ยคะ

ความสุขทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ยังไง น่าสนใจใช่มั้ยคะ

วันนี้หมอหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความเครียดกับสุขภาพ ค้นมาเจอบทความอันนึงจาก Medical News Today ที่อธิบายได้ครอบคลุมและเข้าใจไม่ยากจนเกินไป เลยแปลบางส่วนที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกันค่ะสองสามทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องการไขความจริงของความสัมพันธ์ระหว่างความเครียด กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากมาย ซึ่งความสัมพันธ์ของระบบดังกล่าวก็ค่อยๆชัดเจนขึ้น และมีคำอธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์การแพทย์มาสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆสิ่งนี้รู้จักกันในศัพท์ที่เรียกว่า PNI หรือ psychoneuroimmunology
เป็นที่ทราบกันดีกว่า สภาวะจิตใจส่งผลต่อสุขภาพได้ ความเครียด สามารถกระตุ้นให้เกิดการเจ็บป่วยได้ และในทางตรงกันข้าม ช่วงเวลาที่มีความสุข การได้ใช้เวลาพิเศษกับบุคคลที่เรารัก ก็สามารถช่วยลดความเจ็บปวด หรือช่วยลดความทุกข์ทรมาณจากอาการเจ็บป่วยได้เช่นกัน สิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น pseudoscience เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน แต่มาตอนนี้กลับพบว่ามีหลักฐานทางวิชาการมากมายรองรับความเชื่อมโยง ของระบบดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆPNI ได้แตกกิ่งก้านสาขาเป็นการวิจัยและการศึกษาทางการแพทย์มากมาย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการรักษาสภาวะความเจ็บป่วย รวมถึงมุมมองในการรับมือกับความเครียดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นในอนาคตมากขึ้น

มาดูกันค่ะว่าสภาวะจิตใจส่งผลต่อร่างกายยังไงบ้าง
        ลองมาดูตัวอย่างความสัมพันธ์ของความเครียดกับการเกิดโรคกันซัก 2-3 ตัวอย่างค่ะ
 
        เรื่องราวที่เราอาจเคยได้ยินว่าคู่รักที่อยู่กันมาจนเป็นคุณตาคุณยาย เสียชีวิตลงหลังจากอีกฝ่ายเสียชีวิตไปไม่นาน (ที่เค้าชอบพูดกันไงคะว่า รักกันจนตรอมใจตายตามกันไป T_T) จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่อาจมีเหตุผลและมีงานวิจัยรับรองค่ะ
 
        เนื่องจากมีการศึกษาที่ติดตามคน จำนวน 95,647 คน ที่คู่สามี/ภรรยาเสียชีวิต พบว่าระหว่างสัปดาห์แรกหลังจากการจากไปของคู่ชีวิต พบมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากภาวะปกติ
 ระบบลำไส้ก็เช่นกัน ในปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่ทราบกันดีในทางการแพทย์ว่า ความเครียดส่งผลต่ออาการของระบบทางเดินอาหารได้ชัดเจน เช่น ภาวะโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) และภาวะลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ทำงานกับมะเร็งล้วนทราบกันดีว่า มุมมอง และสุขภาพจิตของผู้ป่วยมะเร็ง มีผลอย่างมากต่อผลการรักษา
        แม้แต่ในผู้ป่วย HIV ก็ยังมีการศึกษาจำนวนมากที่พบว่าความเครียดและรวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากสังคมและคนรอบข้างมีผลอย่างชัดเจนต่อการดำเนินโรคของผู้ป่วย HIV โรคทางผิวหนังก็เช่นกัน โดยพบว่าสะเก็ดเงิน รวมถึงผื่น eczema มีความเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจและความเครียดอย่างชัดเจนหรือแม้แต่ความสามารถในการหายของแผล ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจิตใจ คือความเครียดและความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด อาจส่งผลต่อผลของการรักษา รวมถึงระยะเวลาในการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัดด้วย
เรื่องเหล่านี้ทุกคนที่ทำงานด้านสุขภาพเคยพบเห็นกันเป็นเรื่องเกือบจะปกติ แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการ คือหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าระบบภูมิคุ้มกัน กับระบบประสาทและสมองมันจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันได้ยังไง

        ร่างกายคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนและมหัศจรรย์นะคะ ซับซ้อนขนาดที่ว่าการศึกษาถึงกลไกต่างๆของร่างกายที่มีมากมายมาเป็นร้อยเป็นพันปีแต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ยังไขได้ไม่หมดซักทีออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

 ในปี 1981 มีการค้นพบเครือข่ายของระบบประสาทที่ส่งไปที่หลอดเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน และยังมีการค้นพบระบบประสาทในต่อมไธมัส และม้าม ซึ่งทราบกันดีว่าสองอวัยวะนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อมาในปี 1985 พบมีสารสื่อประสาทและตัวรับนิวโรเพบไทด์บนผนังเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันและสมอง ซึ่งการค้นพบอันนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ว่าสารเคมีในสมองและระบบประสาท น่าจะสามารถสื่อสารกันกับระบบภูมิคุ้มกันได้โดยตรง !! ทีนี้การจะอธิบายความสัมพันธ์ว่าความเครียดจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างไรนั้น เพื่อให้ง่ายขึ้น น่าจะต้องมารู้จักกับ HPA axis กันก่อน HPA axis ย่อมาจาก Hypothalamic-pituitary-adrenal axis ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ต่อม ที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญ นั่นก็คือต่อม Hypothalamus Pituitary และ Adrenal (ต่อมหมวกไต) สามต่อมนี้ทำงานในการควบคุมปฏิกริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด และควบคุมกลไกที่สำคัญหลายอย่างของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ อารมณ์ และการใช้พลังงานโดยสารเคมีที่สำคัญ ในการเชื่อมโยงทั้งสามระบบนี้ก็คือ CRH หรือ corticotropin-releasing hormone ซึ่งถูกหลั่งออกมาโดยไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) CRH จะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายมีสภาวะเครียด เจ็บป่วย เวลาออกกำลังกายเวลาที่คอร์ติซอล(ฮอร์โมนต้านเครียดที่ต่อมหมวกไตหลั่งออกมา) สูงในเลือด และ CRH ยังมีความเชื่อมโยงกับวงจรการหลับ/ตื่นของร่างกายคือ CRH จะสูงหลังจากตื่นและค่อยๆลดลงเรื่อยๆระหว่างวัน
ในคนที่มีความเครียด ฮอร์โมนคอรติซอลจากต่อมหมวกไตจะสูง คนที่มีความเครียดอยู่เสมอ ร่างกายก็จะปรับตัวให้มีคอร์ติซอลสูงตลอดเวลา
เพื่อที่จะกระตุ้นให้กระบวนการเผาผลาญสารอาหารอยู่ในระดับที่จะได้พลังงานที่เหมาะสม (ร่างกายจะเชื่อว่าตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่อันตรายและต้องเตรียมตัวต่อสู้หรือตอบสนองต่ออะไรบางอย่าง ก็เลยพยายามปรับตัวให้ได้พลังงานที่เพียงพออยู่เสมอไงคะ)
        กระบวนการเหล่านี้ จะไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (เพื่อไม่ให้ใช้พลังงานเปลืองเกินไป เพราะร่างกายคิดว่า เราต้องสงวนพลังงานไว้เตรียมสู้ในภาวะเครียด)และเก็บพวกสารประเภทน้ำตาล
        ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลัก ไว้สำหรับสภาวะเครียดด้วยเหตุนี้นี่เองทำให้เมื่อร่างกายเจอกับความเครียดนานๆ ระบบภูมิคุ้มกันก็เลยแย่ลงได้นอกจากนี้การศึกษาจำนวนมากยังพบว่า ความเครียดแต่ละรูปแบบยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไปอีกด้วย
 คือมีการเปรียบเทียบลักษณะความเครียดในช่วงระยะเวลาสั้นๆเช่นความเครียดจากการสอบ เทียบกับความเครียดที่ส่งผลระยะยาวกับชีวิต เช่นความเครียดจากการต้องดูแลคู่ชีวิตที่มีปัญหาความจำเสื่อมในระยะยาว พบว่า ความเครียดในระยะเวลาสั้นๆมีแนวโน้มที่จะกดระบบภูมิคุ้มกันชนิดcellular immunity ซึ่งเป็นระบบที่จะจัดการกับตัวปัญหาที่เข้ามายุ่งเกี่ยวในระดับเซลล์ เช่นระบบการป้องกันการติดเชื้อไวรัส แต่ว่าระบบภูมิคุ้มกันในส่วนที่ทำงานป้องกันการติดเชื้อระดับนอกเซลล์ (humoral immunity) เช่นปรสิต หรือเชื้อแบคทีเรีย จะยังเป็นปกติอยู่ในขณะที่ความเครียดในระยะยาว จะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทั้งสองระบบ
        นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ที่อยู่ภายใต้เหตุการณ์ที่ทำให้มีความเครียดสูง ร่างกายจะมีความสามารถในการตอบสนองต่อการบาดเจ็บเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการที่ความสามารถในการหายของแผลแย่ลง โอกาสการติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือการพยากรณ์โรคที่แย่ลงในผู้ป่วยมะเร็ง
        จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการความเครียดให้ดีนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพไม่เพียงแต่จิตใจแต่รวมไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยวันนี้คือยาววววมากแล้ว  😀 (ใครอ่านจบทิ้งคอมเมนต์บอกไว้หน่อยเนอะ 55) เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่ามีวิธีการบำบัดรูปแบบไหนบ้างที่มีการนำมาใช้เป็นตัวช่วยสุขภาพในการรับมือกับความเครียด
ขอบคุณที่มาจาก : mediscicenter.com

Facebook Comments

Check Also

คุณกำลังขาดแมกนีเซียมหรือเปล่า?

แมกนีเซียมเป็นแ …