เบาหวานเป็นโรคไม่เรื้อรัง ที่เกิดขึ้นกับใครแล้ว หัวเราะไม่ออก เพราะต้องอยู่ด้วยกัน(กับเบาหวาน)ไปจนชั่วชีวิต มีบ้างเหมือนกันที่ปฏิบัติตัวกินอาหารออกกำลังกายแล้วสามารถฟื้นฟูและกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน
เบาหวาน…นอกเหนือจากการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้ว การดูแลตนเอง ก็สำคัญและมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติตามหลัก 3 อ.ขอนำมาฝากกัน
อ อาหาร
1.หมั่นศึกษาหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโภชนาการผู้ป่วยเบาหวาน จำนวนแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาล โดยศึกษาจากเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค สื่อออนไลน์ที่เชื่อถือได้ เช่น สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ หรือโรงพยาบาลต่างๆ
2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดของหวาน มัน เค็ม ผัด ทอด และอาหารแปรรูปต่างๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม รับประทานผลไม้ที่หวานน้อย เช่น ชมพู่ ฝรั่ง แก้วมังกร
3.ไม่ควรอดมื้ออาหาร แต่ลดอาหารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาล พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าปล่อยให้อ้วน
4.อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ควรได้รับเช่นเดียวกับคนทั่วไป ไม่ควรงดหรือจำกัดมากเกินไป โดยคาร์โบไฮเดรตที่ผู้เป็นเบาหวานได้รับควรเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืช ขนมปังโฮลสีต และถั่วเมล็ดแห้ง
5.อาหารจำพวกผัก ควรรับประทานมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีกากใยอาหารสูง เพราะว่าใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในร่างกายได้ดี ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรับประทานผักให้มาก ทั้งผักสุกและผักสด
6.อาหารจำพวกเนื้อสัตว์(ไม่ติดมัน) หากเป็นไปได้ให้ทานแต่น้อย แต่ควรทานทุกมื้อ โดยอาจเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์มาเป็นเนื้อปลาและเต้าหู้แทน
7.อาหารประเภทไขมัน ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันถั่วลิสง รวมไปถึงน้ำมันปลาในการประกอบอาหาร งดการใช้น้ำมันหมูและน้ำมันมะพร้าวเนื่องจากมีกรดไขมันอิ่มตัว เลี่ยงอาหารทอด กะทิ เนย มาการีน
อ อารมณ์
1.ควบคุมอารมณ์ให้ไม่เครียด ไม่โกรธง่าย พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อารมณ์ไม่ดี หาสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ เช่น ปลูกต้นไม้เล็กๆ น้อยๆ ดูของสวยๆ งามๆ เช่น ดอกไม้ พรรณพืชต่างๆ ดูละครภาพยนตร์ที่ทำให้เรามีความสุข
2.พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง หรือเข้าชมรมผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยรายอื่นๆ เหมือนได้เจอเพื่อนๆ ที่ป่วยเบาหวานด้วยกัน เข้าใจกัน และให้กำลังใจกัน
อ ออกกำลังกาย
1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้แป้งและน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ ถูกดึงออกไปใช้เป็นพลังงาน
2.การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน มีหลักการง่ายๆ คือ ต้องไม่สร้างแรงกด แรงกระแทกซ้ำๆ บนฝ่าเท้า ดังนั้น กิจกรรมเต้นแอโรบิค โดยเฉพาะที่มีการก้าวขึ้น ก้าวลง และหมุนตัวเร็วๆ การกระโดดเชือก จึงไม่เหมาะสม แนะนำให้การออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวช้าๆ มีความมั่นคงสูง ทำช้าๆ สลับข้าง เช่น การเดินเร็ว ขี่จักรยาน ยกน้ำหนักดัมเบลล์เบาๆ
ขอบคุณที่มาจาก : 40plus.posttoday.com
Facebook Comments