วันเสาร์ , กรกฎาคม 27 2024
Breaking News
Home / สุขภาพ / เข้าใจโรคอ้วนในบางแง่มุม

เข้าใจโรคอ้วนในบางแง่มุม

เข้าใจโรคอ้วนในบางแง่มุม

คนอ้วนในโลกนี้นับวันจะมีมากขึ้นๆ เพราะมาพร้อมกับความมีอันจะกินมากขึ้น ที่สหรัฐฯ มีคนเป็นโรคอ้วนกันมากประมาณ 30% ตัวเลขนี้ยังไม่นับภาวะน้ำหนักเกินอีก 60% มีการผ่าตัดลดความอ้วนกันถึงปีละราว 200,000 ราย มี  การศึกษาเรื่องโรคอ้วนกันเป็นล่ำเป็นสันมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น

ข้อมูลจากการบรรยายของ Robin P. Blackstone, U. of Arizona School of Medicine, Phoenix กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคอ้วนหลายอย่าง จึงนำเสนอเรื่องนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

โรคอ้วน คือ ภาวะที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30 วิธีคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย คือ BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วย ความสูง (เมตร) 2 ครั้ง

ในการลดน้ำหนักมีความเข้าใจผิดในหลักการว่า “อาหาร (แคลอรี) เข้าเท่ากับพลังงานออก” จะทำให้เกิดความสมดุล แต่ในคนเป็นโรคอ้วนสูตรนี้ ไม่ได้ตรงไปตรงมา ปกติคนธรรมดาถ้าคิดตามกฎของ Thermodynamics ถ้าลดการกิน 100 แคลอรีต่อวัน โดยที่อย่างอื่นไม่เปลี่ยนแปลงจะเป็นผลให้น้ำหนักลดลง 50 ปอนด์ในเวลา 5 ปี แต่ในคนอ้วนลดได้แค่ 10 ปอนด์

การลดความอ้วนโดยลดการกินนั้นยาก เพราะการลดการกินลงในระยะแรกน้ำหนักจะลดลงเร็ว แต่ต่อมาก็จะทรงตัวเป็นแนวราบ หลังจากนั้นการลดน้ำหนักจะยากขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนการเผาผลาญ (metabolism) ของร่างกาย และการออกกำลังกายของคนอ้วนจะทำให้กินมากขึ้น

 พันธุกรรมของโรคอ้วน

มีสถิติที่น่าสนใจคือ…

  • ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะอ้วนประมาณ 25-50%
  • ถ้าทั้งพ่อทั้งแม่อ้วน ลูกจะอ้วน 75%
  • คนที่เคยอ้วนตอนวัยรุ่น 80% จะอ้วนตอนเป็นผู้ใหญ่

70% ของโรคอ้วนเกิดจากพันธุกรรมหรือยีน (ถ่ายทอดโดย polygenic trait) พันธุกรรมมีผลต่ออัตราการเผาผลาญอาหาร ฮอร์โมน การส่งผ่านสัญญาณทางระบบประสาทและเซลล์ไขมันที่เอื้อต่อการเกิดโรคอ้วน การมีความโน้มเอียงที่จะอ้วนอาจจะไม่มีพันธุกรรม (ยีน) โดยตรง แต่เกิดจากอิทธิพลของแม่ที่อ้วนซึ่งส่งผลต่อการทำงานของยีน (gene expression) ของทารกในครรภ์ เรียกว่า epigenetics ซึ่งเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือไปจากการที่เปลี่ยนแปลงการเรียงตัวของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ

นอกจากนี้อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมก็สามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนได้ด้วย ตัวอย่างเช่น แม่อ้วนที่เป็นเบาหวานทำให้ลูกมีความโน้มเอียงที่จะเป็นเบาหวาน แม่ที่กินน้ำตาลมากจะทำให้ยีนที่ทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลถูกกดการทำงาน การถูกกดการทำงานนี้ถูกส่งผ่านไปสู่ลูกในครรภ์ เด็กพวกนี้เมื่อเกิดมาเวลาไปกินน้ำตาลแล้วจะอ้วนได้ง่าย

 

สรีรวิทยาบางอย่างของการกิน

การกินอาหารเป็นสิ่งกระตุ้นที่สำคัญที่สุดต่อสมอง การกินจะไปกระตุ้นตัวรับรู้สารเคมีในลำไส้แล้วส่งสัญญาณไปสู่สมอง สมองก็จะทำการประมวลผลแปรสัญญาณส่งกลับไปสู่ร่างกายให้ทำงาน

เกรลิน (ghrelin) เป็นฮอร์โมนส่งสัญญาณตัวหนึ่งที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน ฮอร์โมนชนิดนี้ถูกผลิตโดยเซลล์ของกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดความหิว การกินอาหารไขมันสูงมีผลยับยั้งฮอร์โมนเกรลินได้ไม่ดี ทำให้หิวได้ง่ายขึ้น สารตัวนี้ทำให้มีการหลั่งสารอินซูลินมากขึ้น เกิดการสะสมกรดไขมันในเซลล์มากขึ้น ทำให้ส่งเสริมความอ้วน นอกจากนี้เกรลินยั

สามารถเคลื่อนผ่านผนังกั้นระหว่างหลอดเลือดและเซลล์สมอง มีฤทธิ์ช่วยลดความกังวลใจ และปล่อยให้สารสเตียรอยด์ออกมาสู่กระแสเลือด

สาร glucagon-like peptide (GLP-1) สารตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกอิ่ม ถูกผลิตโดยลำไส้ส่วนปลายหลังจากกินอาหารไปแล้ว 10-20 นาที แต่การกินอาหารเร็วเกินไป จะไม่ได้อานิสงส์ของสารตัวนี้ในการลดการกิน

การอุบัติและพัฒนาการของเนื้อเยื่อไขมันเกิดขึ้น ในขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาช่วงไตรมาสที่ 2 เนื้อเยื่อไขมันแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ เนื้อเยื่อไขมันสีขาว (white adipose tissue; WAT) และ เนื้อเยื่อไขมันสีน้ำตาล (brown adipose tissure : BAT) โดยทั่วไปไขมันใต้ผิวหนังทำหน้าที่เป็นกันชนไขมันในช่องท้อง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงาน เนื้อเยื่อไขมันสีขาวทำหน้าที่เก็บกักไขมันและผลิตฮอร์โมนหลายตัว ในขณะที่เนื้อเยื่อไขมันสีน้ำตาลทำหน้าที่สร้างความร้อน และถูกกระตุ้นด้วยการออกกำลังกายและความเย็น

เลปติน (Leptin) เป็นฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่ง ถูกผลิตขึ้นโดยเนื้อเยื่อไขมันสีขาว ระดับของเลปตินขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันในร่างกาย ฮอร์โมนชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ความอยากอาหารลดลง จึงกินอาหารน้อยลง และเพิ่มอัตราการใช้พลังงานของร่างกาย จึงช่วยลดความอ้วน สารชนิดนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเราอดอาหาร คนที่เป็นโรคอ้วนมีความต้านทานต่อเลปติน จึงทำให้การใช้พลังงานลดลงและลดน้ำหนักไม่ได้ผล

 

เซลล์ไขมัน

เซลล์ไขมันที่มีขนาดเล็ก (คนไม่อ้วน) จะส่งผ่านออกซิเจนและสารอื่นๆ ได้ง่ายเพราะระยะทางส่งผ่านสั้น ตรงข้ามกับเซลล์ไขมันที่อ้วน ซึ่งทำให้เซลล์ขาดออกซิเจน เปลี่ยนการเผาผลาญจากกระบวนการที่ใช้ออกซิเจน (aerobic) ไปเป็นกระบวนที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic) มีผลให้การผลิตพลังงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดกรดแลคติกมากจึงหมดแรงได้ง่าย คนอ้วนจึงออกกำลังกายแล้วเหนื่อยง่าย

จำนวนเซลล์ไขมันของคนเราจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงช่วงวัยรุ่น หลังจากนั้นจำนวนเซลล์จะไม่เพิ่มขึ้นอีก ผู้ใหญ่ที่อ้วนขึ้นเกิดจากการที่ไขมันไปสะสมในเซลล์ ทำให้เซลล์มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่จำนวนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์ไม่เพิ่มตาม จึงทำให้ขาดออกซิเจนมากขึ้นและเกิดการอักเสบขึ้น การอักเสบที่เกิดกับเยื่อบุหลอดเลือดทั่วร่างกายมีผลให้การส่งผ่านอินซูลินไปสู่เซลล์เสียไป เป็นเหตุให้เกิดเบาหวานชนิดที่ดื้อต่ออินซูลิน (อินซูลินคือสารที่พาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ ถ้ามันทำงานไม่ได้ก็จะเกิดเบาหวาน) และทำให้เซลล์ตับไม่สามารถเก็บกักน้ำตาลกลูโคส จึงเอื้อต่อการเกิดไขมัน พอกตับและภาวะอินซูลินสูง

การออกกำลังกายในคนเป็นโรคอ้วนไม่สามารถลดน้ำหนักได้ เพราะต้องออกแรงมากเกิน แต่การออกกำลังกายในคนอ้วนทำให้โรคเบาหวานบรรเทาลง ทำให้มีอายุยืนขึ้น ทำให้ภาวะ epigenetic ตามที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้น

 

รู้หรือไม่

คนที่เป็นโรคอ้วน (คือ BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30) มีอุบัติการณ์ของโรคต่างๆ มากกว่าปกติ คือ

  • โรคความดันโลหิตสูง 51% นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่อว้นลงพุง ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น มีผลให้ต่อมหมวกไตหลั่งสารแอบโดสเตอโรนมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการเกิดความดันโลหิตสูงอีกทางหนึ่ง
  • โรคไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ 85% ในขณะที่คนไม่อ้วนเป็นโรคนี้เพียง 15%
  • โรคตับอักเสบ 40%
  • ตายจากโรคมะเร็ง 52% โดยพบว่าคนที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนปกติ ถึง 15-20% คนอ้วนจึงควรระวัง และควรตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • มีอุบัติการณ์ของโรคข้ออักเสบและโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น
  • คนที่เป็นโรคอ้วนจะมีโรคหลายอย่างก่อนวัย คือ โรคหัวใจขาดเลือด , โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคประสาทเสื่อม และไตวาย
  • โรคหยุดหายใจในขณะนอนหลับเกิดบ่อยในคนเป็นโรคอ้วน โรคนี้ทำให้ขาดออกซิเจน ซึ่งมีผลทางอ้อมทำให้อ้วนมากขึ้นด้วย

ขอบคุณที่มาจาก : health.haijai.com

Facebook Comments

Check Also

5 อาหารสุขภาพ ต้านแก่ หน้าเด็ก ทำให้อ่อนเยาว์ ไม่แก่ไว

อายุและความเจ็บ …